
Lesson : 02

คนไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก : เราควรภูมิใจงั้นหรือ ?
อาจจะฟังดูเหมือนประชดเหยียดหยามประชาชนคนไทยกันซักหน่อย แต่วันนี้เอาความจริงใกล้ๆตัวเด็กวัยรุ่นถึงคนวัยกลางคนที่ไม่ค่อยมีใครคิดถึงมาให้ดูกันครับ
องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) ได้มีการรวบรวมข้อมูล Global Status Report on Road Safety ขึ้นเมื่อปี 2015 ซึ่งรวบรวมข้อมูลอุบัติเหตุบนท้องถนนจากทุกประเทศทั่วโลก

"รู้หรือไม่ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากเป็นอันดับ 2 ของโลก"

ใช่แล้วครับ อ่านไม่ผิดหรอก อันดับ 2 ของโลกจริงๆ ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงมีอุบัติเหตุจราจรมากมายนักในบ้านเรา
เรามาดูกันดีกว่า ว่า 5 อันดับแรกมีประเทศใดบ้าง
อันดับ 1 : Libya อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 73.4 คน/แสนประชากร
อันดับ 2 : Thailand อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 36.2 คน/แสนประชากร
อันดับ 3 : Malawi อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 35.0 คน/แสนประชากร
อันดับ 4 : Liberia อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 33.7 คน/แสนประชากร
อันดับ 5 : Congo อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 33.2 คน/แสนประชากร
ซึ่งประเทศไทยเรานั้น จากข้อมูลปี 2012 มีรายงานการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากถึง 14059 ราย (ชาย 79%, หญิง 21%) ซึ่งมูลค่าความเสียหายนั้นอาจส่งผลกระทบทำให้ GDP ของประเทศลดลง 3% เลยทีเดียว
โดยอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนของเมืองไทยมีแนวโน้มที่สูงขึ้น โดยหลักๆเกิดจากรถจักรยานยนต์ 2 ล้อ และ 3 ล้อ รวมๆกันประมาณ 73% และเราจำเป็นที่จะต้องช่วยกันป้องกันแก้ไข
เอาละครับ มาดูกันว่า เสาหลักของการป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนมันประกอบด้วยอะไรบ้าง
"5 Pillars of Road Safety : เสาหลัก 5 ประการของถนนปลอดภัย"
เป็น Road map ของ WHO ในปี 2011-2020 เพื่อให้เกิดความปลอดถัยและลดอัตราการตายบนท้องถนนให้ได้มากที่สุด มาดูกันว่า ประเทศไทย ของเรานั้น สอบผ่านกันกี่ข้อครับ
1. Safe Vehicle : บ้านเรามียานพาหนะที่ปลอดภัย ถูกสร้างมาได้มาตรฐานความปลอดภัยแล้วหรือยัง? หรือยังเป็นสามล้อเครื่องหรือจักรยานยนต์แต่งที่เรียกกันว่า"แว้น" กันอยู่ และ 80% ของรถยนต์ที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก ยังไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน
2. Infrastructures : บ้านเรามีถนนที่ได้มาตรฐานหรือไม่ มีไหล่ทางที่เพียงพอ มีการเอียงองศารับโค้ง และมีความเรียบหรือยังเป็นถนนบนดาวอังคารอยู่

3. Road Safety Management : เรามีการบังคับใช้กฎจราจรกันอย่างเคร่งครัดหรือไม่ รวมไปถึงการคารเข็มขัดนิรภัย และการสวมหมวกกันน๊อคนะครับ
ซึ่งเข็มขัดนิรภัยเนี่ย เพิ่มอัตรารอดชีวิตถึง 50-75% ทั้งที่นั่งตอนหน้าและตอนหลังนะครับ
ในเรื่องของความเร็วในการขับรถ หากขับรถยนต์ด้วยความเร็ว 50 กม./ชม. ชนคนเดินถนน จะมีโอกาสเสียชีวิต 20% และหากเพิ่มความเร็วรถยนต์เป็น 80 กม./ชม. ชนกับคนเดินถนน จะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูงถึง 60%
และการสวมหมวกนิรภัย สามารถลดอัตราการตายได้ 40% แถมยังลดอัตราการบาดเจ็บทางสมองที่รุนแรงได้ถึง 70%
4. Road User Behavior : พฤติกรรมการใช้รถใช้ถนน ข้อนี้อาจไม่ต้องพูดมาก มีคดีออก social media ออกมาแทบทุกวัน ทั้งขับเร็ว ผิดกฎจราจร ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และไม่สวมหมวกกันน๊อค
5. Post-Crash Care : การดูแลผู้ป่วยหลังเกิดอุบัติเหตุในห้วงก่อนถึงโรงพยาบาล หรือ Pre-Hospital Trauma Life Support เป็นสิ่งที่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กำลังพัฒนาและเผยแพร่ความรู้และการจัดการให้กับเจ้าหน้าที่ EMT, Paramedic พยาบาล รวมไปถึงแพทย์ ให้มีความรู้ความสามารถเป็นไปตามมาตรฐาน โดยมีการจัดอบรมตามศูนย์ฝึกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และที่กำลังจะเปิดใหม่คือมหาวิทยาลัยขอนแก่นครับ
